ดี อร่อย ตามรอยผักสด...โครงการหลวง

11 ก.พ. 59

ฝนเพิ่งหยุดตกไปได้สักครู่ บรรยากาศของจังหวัดเชียงใหม่ในยามนี้สดชื่นเย็นสบายยิ่งนัก ภารกิจในการเดินทางครั้งนี้ คือการตามรอยผักสดของโครงการหลวง ว่ามีกรรมวิธีตลอดจนกระบวนการเช่นไร กว่าจะมาเป็นผักสด ดี อร่อย ให้พวกเราได้ลองลิ้มชิมรส บริโภคกันอย่างสบายอกสบายใจปลอดภัยสบายพุง

moncham

เราขับรถไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 107 เชียงใหม่-แม่ริม และเลี้ยวซ้ายไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 1096 แม่ริม-สะเมิง ก่อนจะแยกขึ้นศูนย์ระหว่างกิโลเมตรที่ 13-14 ถนนลาดยางที่คดเคี้ยวไปตามภูเขา วิวสองข้างทางสวยงาม เต็มไปด้วยป่าเขาสลับแปลงเพาะปลูกที่ปกคลุมด้วยหมอกสีขาวนวลบางเบา จุดท่องเที่ยวมีให้เห็นเป็นระยะ ทั้งสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ปางช้างแม่สา น้ำตกแม่สา น้ำตกตาดหมอก น้ำตกวังฮาง

moncham

35 นาที จากตัวเมืองเชียงใหม่ พาเรามาถึงศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย ที่นี่ขึ้นชื่อเรื่องแปลงผักไฮโดรโพนิค เทคโนโลยีการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน ต้นโอ้คลีฟแดง ผักตระกูลสลัด และสมุนไพรมากมาย มีให้ชมอย่างไม่รู้เบื่อ นอกจากนี้ยังมีโรงเรือนปลูกมะเขือเทศเชอรี่ หรือที่นิยมเรียกอีกชื่อหนึ่งว่ามะเขือเทศแฟนซีห้าสีนั่นเอง ซึ่งมะเขือเทศเชอรี่โครงการหลวงแบ่งแยกได้ถึง 5 เฉดสี คือ สีชอคโกแลต สีเหลือง สีส้ม สีแดง และสีชมพู นอกจากความสวยงามจากสีของมะเขือเทศเชอรี่แล้ว มะเขือเทศเชอรี่แต่ละสียังอุดมด้วยคุณประโยชน์ และมากด้วยคุณค่าสารอาหารที่แตกต่างกัน

moncham  hydroponics

อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ โรงคัดบรรจุใหญ่โตได้มาตรฐานที่ตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหน้า เราจึงไม่รอช้าที่จะขอขออนุญาตเข้าชมกระบวนการคัดบรรจุผลผลิตในทันที

เริ่มแรกผู้เยี่ยมชมจะต้องทำการเปลี่ยนชุด สวมหมวก สวมหน้ากาก และรองเท้า ที่ศูนย์ฯ เตรียมไว้ รวมทั้งล้างมือ และเดินลงอ่างฆ่าเชื้อ เพื่อทำตัวให้สะอาดหมดจดก่อนเข้าไปสู่ห้องคัดบรรจุที่ปราศจากเชื้อด้านใน เมื่อสองเท้าก้าวย่างเข้าไป เราถึงกับตะลึงในกระบวนการคัดบรรจุที่ละเอียดถี่ถ้วน

monchammoncham

กระบวนการเริ่มจากชั่งรับผลผลิตที่ชาวบ้านในโครงการนำมาจำหน่าย เจ้าหน้าที่จะทำการสุ่มตรวจวิเคราะห์หาสารตกค้างจากพืชผักทั้งหมดปริมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ โครงการจะทำการส่งคืนผลผลิตทันทีเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค เมื่อสุ่มตรวจวิเคราะห์สารเรียบร้อยแล้ว ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนของการตัดแต่งและล้างทำความสะอาดเบื้องต้น ส่วนน้ำที่ใช้ทำความสะอาดนั้น จะต้องวัดปริมาตรการผสมคลอลีนในอัตราส่วนที่ตรงตามมาตรฐานด้วยเช่นกัน สำหรับผักที่ไม่ต้องบรรจุหีบห่อเจ้าหน้าที่จะทำการคัดเกรดผลผลิต ซึ่งจะมีตั้งแต่เกรด 1 เกรด 2 และเกรด U และ นำผลผลิตที่คัดสรรแล้วบรรจุลงในลังทันที แต่ถ้าผักชนิดใดที่ต้องทำการบรรจุหีบห่อ จะต้องบรรจุ ปิดผนึก และติดฉลากให้เรียบร้อย ก่อนที่จะบรรจุลงลังหรือกล่อง จากนั้นเจ้าหน้าที่จะทำการชั่งน้ำหนักและพิมพ์รหัสกำกับผลผลิตใส่ลงไปในลัง นั้นๆ ด้วย ซึ่งขั้นตอนสุดท้ายก็คือการนำผลผลิตที่ได้ ไปจัดเก็บในห้องเย็นที่มีอุณหภูมิอยู่ที่ 4-7 องศาเซลเซียส เพื่อให้ผักคงความสดกรอบน่ารับประทานอยู่เสมอ และรอการจัดส่งต่อไป

ส่วนใครที่ต้องการซื้อผักผลไม้สดของโครงการหลวง ติดไม้ติดมือไว้เป็นของฝากหรือรับประทานเอง ก็สามารถเข้าไปจับจ่ายหาซื้อได้ที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทั้ง 38 แห่ง หรือที่ร้านค้าโครงการหลวงทั้ง 4 จังหวัด

moncham

นอกจากนี้ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอยยังมีที่พักสุดฮิปอย่าง "ม่อนแจ่ม แคมปิ้ง รีสอร์ท" ที่พักแนวแคมปิ้ง พร้อมเครื่องอำนวยความสะดวกที่ครบครัน สามารถชมวิวทิวทัศน์อันกว้างไกลจากทั้งสองด้าน ไว้บริการนักท่องเที่ยวที่มาเยือนอีกด้วย หรือถ้าใครอยากลองลิ้มชิมรสผักสดๆ ของโครงการหลวง ที่นี่ก็ยังมีบริการอาหารเมนูสุดอร่อยไว้ให้เลือกรับประทานอย่างมากมาย

ออกจากม่อนแจ่ม เราทะยานสี่ล้อขับเคลื่อนสู่ศูนย์ผลิตผลโครงการหลวงแม่เหียะ ที่ซึ่งเป็นแหล่งรับและรวบรวมผลิตผลและผลิตภัณฑ์ของมูลนิธิโครงการหลวง เพื่อนำมาเข้ากระบวนการคัดบรรจุเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะถูกส่งไปยังผู้บริโภค (ขอแอบกระซิบหน่อยว่า หากใครต้องการจะเข้าชมกระบวนการคัดบรรจุที่ศูนย์ผลผลิตแห่งนี้ จะต้องติดต่อล่วงหน้าก่อนนะคะ เพราะที่นี้เข้มงวดเรื่องการรักษามาตรฐานผลิตผลค่ะ)

เมื่อมาถึงเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์จะพาเราเข้าชมวีดีทัศน์ เพื่อเรียนรู้พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการก่อตั้งมูลนิธิโครงการหลวง เพื่อพลิกพื้นผืนป่าและสร้างอาชีพใหม่ให้แก่ชาวเขา ทำความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับงานคัดบรรจุเชียงใหม่ และศึกษาหลักการทำงานของโครงการหลวง ก่อนค่ะ

maehiamaehia

หลังจากได้รับความรู้จนเต็มคลังสมองแล้ว เราก็จะเข้าชมงานคัดบรรจุของจริงที่อาคารด้านใน เราเปลี่ยนชุด สวมหมวก สวมหน้ากาก สวมรองเท้า ที่ศูนย์ฯ จัดเตรียมไว้ประหนึ่งเป็นหน้าที่ที่เราคุ้นเคย และรีบเร่งล้างมืออย่างไม่รีรอ

ภายในใหญ่โตโอโถงแบ่งโซนการทำงานเป็นระเบียบ ขั้นตอนการทำงานก็ดูจะไม่ต่างจากศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอยสักเท่าไรนัก คือเริ่มต้นจากการตรวจสอบคุณภาพและปริมาณของผลผลิตที่ได้รับมาจากศูนย์ต่างๆ ทั้ง 38 แห่ง เพื่อนำไปบรรจุหีบห่อในรูปแบบต่างๆ ตามความต้องการของลูกค้า จากนั้นจึงกระจายสินค้าให้กับลูกค้า ตามวันและเวลาที่ลูกค้าต้องการผ่านช่องทางจำหน่ายต่างๆ

หลายชั่วโมงที่เราสัมผัสกับเทคโนโลยีทันสมัยกับความใส่ใจในคุณภาพ ยิ่งทำให้เรามั่นใจว่างานคัดบรรจุมีความมุ่งมั่นที่จะผลิตสินค้าให้เป็นที่พอใจของลูกค้า มีคุณภาพ และความปลอดภัย ตามมาตรฐานสากล
ซึ่งงานของมูลนิธิโครงการหลวงยังไม่หยุดเพียงแค่นี้ แต่ยังคงเดินหน้าค้นคว้า วิจัย และพัฒนาพืชพันธุ์ และวิธีการใหม่ๆ ต่อไป รวมถึงการพัฒนาทางด้านการตลาด เปิดตลาดใหม่ ทั้งในและต่างประเทศ ปรับปรุงและพัฒนาผลิตผล รวมถึงระบบการจัดการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้งานส่งเสริมและพัฒนางานเกษตรที่สูงก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อมีส่วนในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศอย่างยั่งยืนตลอดไป

แม้การเดินทางตามรอยผักสดของเรา จะจบสิ้นลงที่ศูนย์ผลิตผลโครงการหลวงแม่เหียะแห่งนี้ แต่อีกหลายที่หลายศูนย์ฯ ก็ยังคงมีมนต์เสน่ห์แห่งความสงบ ที่แอบแฝงไปด้วยอรรถรสของการท่องเที่ยว เหมาะสำหรับผู้ที่รักธรรมชาติ ชอบลองลิ้มชิมรส และหลงใหลวิถีชีวิตแบบเรียบง่ายพอเพียง